เกี่ยวกับการประชุม

หลักการและเหตุผล

        การศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลกพบว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมักเกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเสมอ ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การถือกำเนิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ จนนำไปสู่ยุคอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ถือเป็นการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญ การปฏิวัติดังกล่าวเปรียบเสมือนการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพสูง และถือเป็นการผลักดันให้มีการก้าวเข้าสู่ “ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital Economy) นั่นคือ การที่ระบบเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยการนำไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึง การเกิดขึ้นของเงินสกุลดิจิตอล ซึ่งการปฏิวัติที่เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในวงกว้างนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลต่อรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

        การเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างรวดเร็ว ถือเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของบริษัทดิจิตอล เช่น แอปเปิ้ล ไมโครซอฟ กูเกิล เฟสบุค อเมซอน และอาลีบาบา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีดิจิตอลได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเกิดปรากฏการณ์ "สร้างสรรค์และทำลาย” (Creative Destruction) เช่น การเกิดของธุรกิจสมาร์ทโฟนได้ทำลายธุรกิจนาฬิกาปลุก เครื่องคิดเลข กล้องถ่ายรูป และการเกิดของยูทูปหรือเฟสบุค ส่งผลต่อธุรกิจโฆษณาและธุรกิจสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยียังนำมาสู่การทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศในด้านการรักษาระดับการจ้างงาน ตลอดจนการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีประเด็นสำคัญมากมายที่เป็นคำถามแก่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลช่วยทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี หากแต่เป็นผู้ใช้ดังเช่นกรณีของประเทศไทย รวมทั้งมีข้อถกเถียงว่า การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลช่วยทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมในแง่ของการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึงหรือไม่

        คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล จึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์อีก 8 มหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมระดับชาติโดยหัวข้อการสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ "เศรษฐกิจยุคดิจิตอล: แข่งขัน ยั่งยืน เป็นธรรม?” (Digital Economy:  Competition, Sustainability and Equity?) เพื่อสะท้อนถึงมุมมองของทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจดิจิตอล โดยมุ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยไขความกระจ่างในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภายใต้เศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Age) ต่อไป

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผลงานวิจัยในสาขาเศรษฐศาสตร์จากคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิต/นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ
  2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย/วิชาการ ภายในประเทศ/ระหว่างประเทศ
  3. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แก่สาธารณะ

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เกิดองค์ความรู้ใหม่ หรือมีการพัฒนาความรู้เดิมในสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือเป็นแนวทางในการศึกษา/ทำวิจัยต่อไป
  2. นักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการและนักวิจัย มีการเผยแพร่ผลงานวิชาการหรืองานวิจัยสู่สาธารณะ